ลักษณะของ ABC (Area-Based Collaborative Research)
ถาม :  ABC คืออะไร? เป็นอย่างไร? 
 
ตอบ :
 
คือ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งในการทำงาน (AB) โดยการทำงานร่วมกัน (C)   ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียตัวจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการวิจัย (R) ที่จะใช้จัดการกับเรื่องสำคัญของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนา (D) งานวิจัยประเภทนี้จึงมีชื่อเต็มว่า Area-Based
เป็น การทำงานเพื่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด (ที่มีหลายระดับของผู้ที่เกี่ยวข้อง) ที่หวังผลทั้งในระยะสั้น (เพื่อตัวเอง) และในระยะยาว (เพื่อลูกหลาน)
บน ปรัชญา/ความเชื่อ ว่าความเข้มแข็งที่แท้จริงต้องเกิดจากภายใน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้ทำ และสมัครใจที่จะทำงานร่วมกัน
ภายใต้ความตระหนัก ว่าภาครัฐ คือผู้กุมทรัพยากรในการพัฒนา (เงินและกฎกติกา) จึงต้องทำงานกับภาครัฐ
ถาม :  ABC สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ของประเทศอย่างไร? 
 
ตอบ :
 
นโยบายกระจายอำนาจและการให้จังหวัดตั้งของบประมาณได้ ทำให้จังหวัดและท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาจังหวัด แต่จังหวัดมีข้อจำกัดด้วยงานโครงการต่างๆ จากส่วนกลางมาก ขาดการบูรณาการกลไกทำงานร่วมกัน และไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดบริการสาธารณะและดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อประชาชน
ABC เสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์นี้ โดยใช้ข้อมูลเชิงระบบ เป็น "พื้นที่" ให้ภาคราชการและประชาชนได้มาทำความเข้าใจกับสถานการณ์ร่วมกัน หาทางเลือกร่วมกัน และตัดสินใจปฏิบัติการในแนวทางที่เหมาะสมกับหลายๆ ฝ่าย
ถาม :  เป้าหมายของงาน ABC และผลลัพธ์ที่คาดหวัง คืออะไร?
 
ตอบ :
 
เป้าหมายของงาน ABC  คือ การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ สังคมของพื้นที่ด้วยการพัฒนา กลไกการจัดการ ของจังหวัดให้มีข้อมูลและความรู้ ที่จำเป็น เพื่อกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับจังหวัดโดยใช้ กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ
ผลลัพธ์ที่คาดหวังของงาน ABC  มี 2 เรื่องคือ

      1.  ผลสำเร็จของการแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์ร่วมของภาคีพัฒนาในพื้นที่ได้  หมายถึงสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ เปลี่ยนให้ดีขึ้น สิ่งที่เป็นโอกาส แต่ยังไม่ได้ใช้ ก็ใช้ให้มากขึ้น

      2.  เกิด กลไกที่มีความสามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ กล่าวคือ เป็นกลไกที่ทำงานบนข้อมูลและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด มีความเป็นธรรมพอสมควรระหว่างกัน  มีความสามารถในการจัดการเรื่องใหม่ๆ ในอนาคตได้
ถาม :  ตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน ABC คืออะไร
 
ตอบ :
 
ขั้นแรกในระดับผลผลิต (output) อยู่ที่การได้ข้อมูลเพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายกำกับแผนพัฒนา ด้วยความสบายใจว่าแผนอยู่บนฐานของข้อมูลความเป็นจริงในพื้นที่ นอกจากนี้ ผลผลิตยังได้แก่ความรู้ที่ให้ทางเลือกทางออกต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วย
ขั้นที่สอง ในระดับผลลัพธ์ (outcome) อยู่ที่การเห็นการพัฒนาจังหวัดประสบผลสำเร็จตามที่วางแผน คุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น คนรุ่นใหม่มีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมไม่เสื่อมโทรม (ต้องรอดูหลายปี)
ถาม :  ใครคือลูกค้าของงาน ABC  และจะได้อะไรจากการทำงานนี้ 
 
ตอบ :
 
ข้าราชการ : ได้ข้อมูลประกอบการทำแผน การของบประมาณ  หรือตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น มีชื่อเสียง
องค์กรปกครองท้องถิ่น:  ได้ข้อมูลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ/legitimacy
ประชาชน : ได้เข้าร่วมวางแผนและติดตามโครงการพัฒนาร่วมกับภาครัฐ
นักธุรกิจ : สร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Cooperate Social Responsibility : CSR) เพื่อความสัมพันธ์ระยะยาว
นักวิชาการ : ได้งานวิจัยที่ใช้ได้จริง สร้างชื่อเสียง (reputation)
ถาม :  ABC ปรับกระบวนทัศน์อะไร? 
 
ตอบ :
 
โจทย์วิจัยที่ดีต้องมาจากปัญหาจริง ปัญหาจริงมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders)  หลายฝ่าย งานวิจัยที่ดีต้องเป็นส่วนงอก (outgrowth) จากการปฏิบัติจริงโดยผู้มีส่วนได้เสีย
Networking  กับ stakeholders เป็นเรื่องสำคัญมากในการจะใช้งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา ลำพังเพียงความรู้จากงานของนักวิจัยฝ่ายเดียวไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาในบรรลุผล
นักวิจัยที่ดีต้องเก่งในศาสตร์ของตน และ ร่วมทำงานกับศาสตร์อื่นๆได้อย่างมีประสิทธิผล
แหล่งทุนที่ดีต้องเข้าใจ ความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ มิฉะนั้นงานที่ทำจะไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง
ผู้บริหาร(รัฐ, องค์กรปกครองท้องถิ่น เอกชน) ที่ดีต้องใช้งานวิจัยช่วยในการทำงาน
ถาม :  ABC ต่างจากงานวิจัยทั่วไปอย่างไร 
 
ตอบ :
 
ABC มี “control area”  คือขอบเขตพื้นที่จังหวัด
ใช้กรอบการวิเคราะห์ว่ากิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ย่อมจะส่งผลต่อกิจกรรมอื่นๆในพื้นที่นั้น (cause-effect- influence)
ตัวกิจกรรม  อาจได้แก่ การไหลเวียนเข้าออกของสินค้า (inflow/outflow) หรือการผลิต การบริโภคภายในจังหวัดก็ได้
งาน R&D เป็นเสมือน catalyst ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนเชื่อมโยงตัวกิจกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาของพื้นที่ (เช่น ลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากภายนอก สร้างการพัฒนาที่สมดุลยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น)
ในที่สุดแล้ว ผลลัพธ์คือ ทางเลือกสำหรับการบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ (คน+ สิ่งแวดล้อม+เศรษฐกิจ+คุณภาพชีวิต) ของ ระบบใน control area ว่าควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
งาน ABC เน้นการมองพื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นหน่วยการวิเคราะห์และพัฒนา  ไม่ใช่เพียงการสร้างงานวิจัยที่มีพื้นที่ทำงานอยู่ในจังหวัด แต่เป็นการมองเชื่อมโยงภาพทั้งจังหวัดว่าจังหวัดหรือ control area นี้จะเกิดการพัฒนาเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรที่สมดุลได้อย่างไร
ถาม :  ใครเป็นคนตั้งโจทย์วิจัยในพื้นที่ กระบวนการอะไรจะยืนยันได้ว่านี่เป็นโจทย์ปัญหาจริงของคนในพื้นที่ 
 
ตอบ :
 
ใครตั้งโจทย์ก็ได้  ไม่สำคัญเท่าการมีกระบวนการยืนยันว่าเป็นโจทย์ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาพื้นที่ตามที่คนในพื้นที่ต้องการหรือสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ  กระบวนการยืนยันโจทย์ทำได้จากกระบวนการเวทีที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ถอดหมวก ของตนออก แล้วใช้เป้าหมายการพัฒนาทั้งพื้นที่ของตนเองเป็นเป้าหมายการให้ความเห็นต่อโจทย์นั้น  กระบวนการจัดการเวทีความเห็นจึงเป็นหัวใจในการตั้งโจทย์ (จัดเวทีแล้วได้โจทย์) หรือยืนยันโจทย์ (เอาโจทย์มาสอบถาม) หรือ เหลาโจทย์ให้คมและชัด   การที่จะรู้ว่าโจทย์ดังกล่าวเป็นปัญหาจริงหรือไม่ จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบความแม่นยำ เช่นการหารือหลายกลุ่มมากขึ้น การประเมินสภาพแวดล้อมที่ชัดเจน และการขอความเห็นจากผู้ที่กำหนดนโยบาย ซึ่งอย่างน้อยที่สุด กระบวนการหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นใจว่าหากเกิดผลงานวิจัยออกมาแล้ว ทางผู้กำหนดนโยบายสนใจที่จะเอาไปใช้หรือไม่
ถาม :  ทำไม ABC  ต้องให้ความสำคัญกับกลไกความร่วมมือในพื้นที่ 
 
ตอบ :
 
ABC มุ่งไปที่ผลลัพธ์คือการพัฒนาพื้นที่  ผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนา คือ กลไกในพื้นที่ เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่และงบประมาณ  ความร่วมมือของกลไกพัฒนาในพื้นที่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ  โดยเฉพาะการรับรู้ตั้งแต่แรก  การร่วมทำวิจัย  ไปจนถึงการสังเคราะห์ความรู้และการกระจายความรู้จากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ถาม :  ทำไมจึงใช้จังหวัดเป็นขอบเขตของคำว่า “พื้นที่” 
 
ตอบ :
 
เพราะมีกลไกบริหารที่มีความชอบด้วยกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว  มีทรัพยากรในการบริหารไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ กำลังคนชัดเจน
ถาม :  ABC จะหนุนเสริมการปกครองท้องถิ่นหรือการเติบโตของราชการภูมิภาคกันแน่
 
ตอบ :

     ใช่ และไม่ใช่ทั้งคู่   เพราะ ABC  คือความร่วมมือระหว่าง ผู้มีส่วนได้เสียตัวจริงของจังหวัด ดังนั้น ถ้าการปกครองส่วนท้องถิ่นและราชการส่วนภูมิภาค เป็นผู้ได้เสียตัวจริง คำตอบคือใช่ แต่หากการปฏิบัติมิได้อยู่ในกรอบข้างต้น คำตอบคือไม่ใช่

      อย่างไรก็ตาม  หากมองบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ทั้งสองหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน และมีเป้าหมายร่วมเพื่อการพัฒนาและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ ABC จะเข้าไปช่วยเชื่อมต่อให้ราชการส่วนภูมิภาค เห็น ความต้องการจริงของคนในพื้นที่ และการปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมสนับสนุนหรือจัดทำแผนงานและงบประมาณ ให้สอดคล้องกันโดยมีข้อมูลและข้อเท็จจริงจากผลงานวิจัยเป็นเครื่องยืนยัน

     จุดเน้นสำคัญของงาน ABC คือ Collaboration การแก้ปัญหาของประชาชนหลายครั้งไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายเดียว ประเด็นจึงไม่ใช่การแข่งกันเติบโตเพื่อ ยึดพื้นที่ หรือ งาน แต่ ABC จะเป็นการ fine tune ทั้ง 2 หน่วยให้เข้าใจการทำงานแบบเสริมพลังบทบาทซึ่งกันและกัน (synergy) เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
ถาม :  มหาวิทยาลัยในพื้นที่จะเข้ามาช่วยในบทบาทไหนได้บ้าง  
 
ตอบ :
     1.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างภาคีต่าง และเป็นแหล่งสร้างและแหล่งรวบรวมความรู้ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการพัฒนาจังหวัดนั้น ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยมีความเข้าใจในบทบาท ความต้องการในการพัฒนาของจังหวัดและภาคีอื่น และทุ่มเทสมองเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โอกาสที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมมีอยู่มา

     2. เป็นข้อต่อเชื่อมระหว่างความรู้ที่ถูกผลิตขึ้นในแวดวงวิชาการกับโจทย์ปัญหาจริงของพื้นที่ มหาวิทยาลัยสามารถนำความรู้เชิงวิชาการมาเติมเต็ม ร่วมจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของภาคีที่ทำงานร่วมกันได้    ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงการวิจัยในกรณีที่กลไกพัฒนาเป็นคนทำวิจัยเอง  และในกรณีที่ต้องใช้วิชาการระดับสูงขึ้น  มหาวิทยาลัยก็สามารถมีบทบาทนำได้ (อย่างมีบริบท)
ถาม :  มหาวิทยาลัยในส่วนกลางที่มีความชำนาญสูงเป็นพิเศษในสาขาต่าง ๆ จะทำอะไรได้บ้างใน ABC
 
ตอบ :

     มหาวิทยาลัยส่วนกลาง สนับสนุนงาน ABC ได้โดยใช้องค์ความรู้, ประสบการณ์แนวกว้างและลึก ช่วยตบแต่งงานวิจัยในพื้นที่ ABC ให้ ตอบสนองกับสถานการณ์จริงของประเทศ เป็นสะพานเชื่อมไปสู่มุมมองใหม่ โอกาสใหม่ ให้กับพื้นที่ ABC ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยส่วนกลางก็ได้เรียนรู้ บริบท พื้นที่และเงื่อนไขที่จำเพาะทำให้การออกแบบงานวิจัยอยู่กับความเป็นจริง มีทั้งความแม่นยำทางวิชาการและ การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ ความสำคัญอีกประการคือ การเป็นพี่เลี้ยงนักวิชาการ นักวิจัยในพื้นที่

     ความชำนาญพิเศษจะเป็นความชำนาญที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ขาด  หากได้ทำงานร่วมกันในโจทย์เดียวกัน  จะเป็นโอกาสของการสร้างเครือข่ายวิชาการ  ที่จะทำให้การ แปล ข้อมูลเป็นความรู้มีความแม่นยำมากขึ้น

ถาม :  ความรู้หรือคำตอบจากงานวิจัยแบบ ABC มี ความใหม่ หรือคุณค่าวิชาการหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน  
 
ตอบ :
 
     1.  ความใหม่หรือคุณค่าทางวิชาการของงาน ABC คือการเอาบริบทไทยไปอธิบายด้วยหลักวิชาการ  ซึ่งจะนำไปสู่ทฤษฎีการพัฒนา  ทฤษฎีสังคมวิทยาใหม่  ที่สร้างขึ้นเองโดยมุมมองใหม่ ทั้งนี้ ความรู้จากงาน ABC มีคุณค่าทางวิชาการ หากได้ออกแบบถูกต้องตามกรอบวิชาการ research methodology

     2. มีโอกาสเปิดงาน ใหม่ ได้ใน 2 กรณีตัวอย่างเช่น
         a. การค้นพบวิธีการใหม่ บนฐานความรู้เดิม ตัวอย่างเช่น การขยายพันธุ์ปูแสมจากแม่ปูไข่นอกกระดอง (ความรู้ชุดเดิม) เชื่อมกับการนำไปทดลองในป่าชายเลน ได้วิธีการขยายพันธุ์ปูแสมใหม่ ซึ่งมีทั้งวิทยาศาสตร์ (ทำซ้ำได้) และ wider applications

         b. ความรู้ ใหม่ จากตัวสินค้าเดิม เพราะมีบริบท ใหม่ ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยง supply chain ของข้าวหอมปทุมธานี1 ที่จังหวัดชัยนาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี 1 เป็นตัวสินค้าเดิม supply chain เป็นความรู้ชุดเดิม แต่เมื่อนำมาบวกกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยและขยายพันธุ์ข้าว โรงสี กระบวนการอบแห้งเมล็ดข้าวในโรงสี ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ชุดใหม่ เกี่ยวการจัดการสินค้าเกษตรที่ครบวงจร ที่ช่วยยกระดับคุณภาพข้าวหอมปทุมธานี 1 เป็นต้นแบบของจังหวัดชัยนาท ซึ่งมีเงื่อนไขต่างจากแหล่งอื่น