ที่มา
         ความท้าทายของอาจารย์มหาวิทยาลัย และระบบอุดมศึกษาในปัจจุบัน คือการปรับบทบาท ให้การผลิตบัณฑิต และการวิจัย ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม สนับสนุนภาคการผลิต สร้างเสริมเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาพื้นที่ ให้ได้มากขี้นแนวทางนี้ทำให้เกิดกระแสมุ่งใช้ " องค์ความรู้" ในมหาวิทยาลัย เพื่อ พัฒนานวัตกรรมทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ ด้านชุมชนสังคม ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ตอบโจทย์ของประเทศ
       การพัฒนาโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่แบบ ABC (Area Based Collaborative Research) ที่ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มกระบวนการ และขับเคลื่อนงานทั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เป็นจุดตั้งต้นที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ของงานวิชาการได้มากขึ้น การนำองค์ความรู้และผลการปฏิบัติสู่การเผยแพร่ในวารสารวิชาการด้วย เป็นการขยายความรู้โดยไม่ปิดกั้นทางวิชาการ ให้มีการปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ตามความเหมาะสม เพราะตัวอย่างความสำเร็จที่เผยแพร่ในรูปแบบบทความ เป็นผลจากการใช้ปัญญาและปฏิบัติ จึงเปรียบเสมือนต้นทางแห่งการอ้างอิงเรียนรู้ เพื่อค้นหาความลึกซึ้งทางวิชาการ และการปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ออกแบบวารสารใหม่ ที่เป็นเอกลักษณ์ สำหรับผลงานที่"การใช้กระบวนการวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคน ชุมชน หรือท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า บนฐานความรู้ที่ได้สร้างขึ้นอย่างจำเพราะเจาะจงในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน" ภายใต้ชื่อ วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Development Research Journal)
       ปัจจุบันวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Development Research Journal) ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม 1 ของฐานข้อมูล Thai-Journal Citation Index (TCI) และมีเว็บไซต์เผยแพร่บทคัดย่อภาษาอังกฤษ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิชาการและภาคีเครือข่าย วารสารออกเผยแพร่ราย 3 เดือน ดำเนินการบนระบบ ThaiJo   (https://www.tci-thaijo.org/index.php/abcjournal)
       บทความมีโครงสร้างตามการเขียนงานวิชาการรับใช้สังคม ของ กพอ. ซึ่งทำให้งานวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ งานบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์มีความโดดเด่นขึ้น และมีส่วนสนับสนุนการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ ตามประกาศ ก.พ.อ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ให้ใช้ผลงานวิชาการรับใช้สังคม เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ตำแหน่งได้ผลงานได้ โดยบทบาทของวารสาร คือ บ่มเพาะผู้เขียนและผู้ประเมินผลงาน ตามแนวทางวิชาการรับใช้สังคม ที่เน้นผลกระทบและความยั่งยืนในพื้นที่ มากกว่าการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่ได้ประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ยังสร้างทางเลือกให้กับนักวิจัยสามารถขอกำหนดตำแหน่งวิชาการได้ทั้ง แบบวิชาการรับใช้สังคม และ แบบปกติ โดยใช้บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่

   วัตถุประสงค์
            วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นวารสารทางวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ตำบล หมู่บ้าน หรือชุมชน เผยแพร่แก่นักวิชาการและบุคคลทั่วไป และส่งเสริมให้นักวิชาการในหน่วยงานราชการ หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้เสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณะ
   เจ้าของ
         สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)